โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานกำเนิดเมื่อ 5 สิงหาคม 2430 ณ บริเวณพระราชวัง สราญรมย์ ต่อมาเมื่อปี 2451 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมมาอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก เนื่องจากมีผู้นิยมเข้าเรียนจำนวนมากและสถานที่เดิมคับแคบ จนกระทั่งปี 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก ด้วยเหตุที่ สถานที่ตั้งเดิมแออัด ประกอบกับสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยในการฝึกศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม 2524 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแห่งนี้ เมื่อ 5 สิงหาคม 2529 ยังความปลาบปลื้มแก่บรรดานักเรียนนายร้อย ศิษย์เก่า และกำลังพลของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอย่างหาที่สุดมิได้

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง เริ่มแรกใช้ชื่อว่า คะเด็ตสกูล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้เหมาะสม ได้แก่ โรงเรียนทหารสราญรมย์ โรงเรียนสอนวิชาทหารบก โรงเรียนทหารบก โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมและโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก จนกระทั่ง 1 มกราคม 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามโรงเรียนนายร้อยทหารบกว่า"โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า" ต่อมาเมื่อปี 2493 ได้พระราชทานตราอาร์มหรือตราแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้เป็นตราประจำโรงเรียน และยังให้ใช้เป็นเครื่องหมายเหล่าและสังกัดของนักเรียนนายร้อยด้วย

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับยุคสมัย นับตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญและวิชาทหารหลักสูตรตามแนวทางของโรงเรียนโปลีเทคนิค ประเทศฝรั่งเศส 5 ปี หลักสูตรตามแนวทางของโรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสต์ปอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา 5 ปี ต่อมาในปี 2544 ได้ปรับปรุงหลักสูตร 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของกองทัพบก และมติคณะกรรมการพัฒนาระบบการศึกษาของกองทัพบกใช้ชื่อหลักสูตรว่า “หลักสูตรนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พุทธศักราช 2544” ต่อมาหลักสูตรนี้ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีการประเมินและปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต 9 หลักสูตร หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 6 หลักสูตร และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต 3 หลักสูตร การจัดการศึกษาในแต่ละภาคการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาวิชาการ วิชาทหาร และการเสริมสร้างคุณลักษณะผู้นำ

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจะได้รับพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา พิธีพระราชทานกระบี่ได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ มีนาคม 2471 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระบี่และรางวัลการศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนราชดำเนินนอก นับตั้งแต่นั้นมาได้มีการจัดพิธีพระราชทานกระบี่ขึ้นเป็นประจำจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาเมื่อ 5 สิงหาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้บัญชาการพิเศษโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตลอดระยะเวลาหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามุ่งมั่นผลิตนายทหารสัญญาบัตรหลักที่มีคุณลักษณะตามที่กองทัพต้องการ มีความเป็นสุภาพบุรุษ นักรบ นักพัฒนา เป็นผู้นำที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ เทิดทูนชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มุ่งพัฒนากองทัพและประเทศชาติ พร้อมเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย