พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร
มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

ผู้บัญชาการพิเศษ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน
รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับราชการในตำแหน่ง
อาจารย์ส่วนการศึกษา รร.จปร. เมื่อ พ.ศ. 2523 โดยทรงสอนวิชาต่าง ๆ
ณ กองวิชากฏหมายและสังคมศาสตร์ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ไทย
และวิชาสังคมวิทยา ต่อมา พ.ศ. 2530 ได้มีการจัดตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้น จึงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองวิชา ในฐานะข้าราชการประจำ และ
"ทูลกระหม่อมอาจารย์" ท่านเสด็จมาทรงงาน ณ รร.จปร. เป็นประจำสัปดาห์ละ 2 วัน
เนื่องจากอีก 5 วันที่เหลือทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อราษฎรทั้งประเทศ
และเมื่อ พ.ศ. 2553 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการพิเศษ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ท่านทรงงานการเป็นครูจนกระทั่งทรงเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558
ปัจจุบันท่านยังคงเสด็จฯ ทรงงาน ณ รร.จปร. ทรงเป็นอาจารย์พิเศษของกองวิชาประวัติศาสตร์ฯ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประจำ รร.จปร. โดยทรงร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
และทรงพระกรุณามีพระราชวินิจฉัยในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน เช่น การจัดทำกำหนดการสอน การทัศนศึกษา การคัดสรรอาจารย์พิเศษ เป็นต้น

"... การเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนนายร้อยมีจุดประสงค์หลักในการให้นักเรียนฝึกหัดวิธีการทรงประวัติศาสตร์ในการคิดหาเหตุผล มีสำนึกทางประวัติศาสตร์ ให้มีความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านเมือง ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย ควรรู้รากเหง้าเรื่องราวของตนเอง ความรู้นี้จะเป็นพื้นฐานช่วยเชื่อมโยงให้เข้าใจสังคมไทยปัจจุบันดีขึ้น ให้รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ทั้งหมดนี้มีส่วนเอื้อให้การทำงานดีขึ้น ..."

วิธีการสอน ทรงใช้เทคนิควิธีและสื่อการสอนผสมผสานหลายอย่าง ดังที่ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่เจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการหนังสือ "เพราะขอบฟ้ากว้าง" เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ความตอนหนึ่งว่า "... ด้านวิธีการสอน พยายามใช้ทุกวิธีการเท่าที่จะทำได้ ได้แก่ การบรรยายถ่ายทอดความรู้ของอาจารย์ให้นักเรียน การเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น การให้นักเรียนอ่านหนังสือ การค้นคว้าในห้องสมุด การไปศึกษาค้นคว้าต่อในสถาบันที่มีข้อมูล เช่น หอจดหมายเหตุ หรือการออกไปสัมภาษณ์ การออกไปสังเกตการณ์ ออกไปเห็นอะไร ๆ ให้กว้างขวาง และรู้จักโยงวิชาการต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มาเข้าด้วยกัน ประวัติศาสตร์ คือศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นมา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องอดีตที่ห่างไกลอย่างเดียว ความเป็นมาทุก ๆ นาทีที่เปลี่ยนไปก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ โดยคิดอย่างกว้างที่สุด การสอนแต่เรื่องโบราณอาจเป็นประโยชน์แก่นักเรียนน้อยเกินไป ประวัติศาสตร์แบ่งได้เป็นหลายสาขา แต่ต้องโยงเข้าหากันให้ได้ เพราะว่าเป็นปัจจัยของชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี หรือว่าเทคโนโลยี การใช้วิธีสอนที่ให้ออกไปศึกษานอกห้องเรียน หรือทัศนศึกษาเป็นครั้งคราว เพื่อให้ดูทุกอย่าง และฝึกตัดสินว่าตนเองเห็นว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร การดูงาน หรือทัศนศึกษาช่วยให้เห็นหลายสิ่งหลายอย่าง ได้พบปะผู้คนที่แปลกออกไปกว่าคนที่เคยพบอยู่เป็นประจำ ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนฐานะต่าง ๆ มีลักษณะนิสัยต่างกัน มาจากสิ่งแวดล้อมต่างกัน แล้วฝึกการวิจัย การเรียนรู้นอกห้องอาจทำได้ในเวลาจำกัด เสียเวลาและสิ้นเปลืองมาก จึงต้องใช้การสอนในห้องเรียนเป็นหลัก ..."

Play Video

"ทูลกระหม่อมอาจารย์"
ทรงเกษียณอายุราชการ
ในฐานะ "ทูลกระหม่อมอาจารย์" ของนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ทรงทุ่มเทเวลาให้กับการทรงงานอย่างจริงจัง ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกให้นักเรียนนายร้อยรู้จักคิด รู้จักตัวเอง คือให้รู้ว่าเราเป็นใคร มาจากที่ใด และกำลังจะไปทางไหน