114 ปี แห่งการเสด็จฯไปทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (26 ธันวาคม 2452)

114 ปี แห่งการเสด็จฯไปทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (26 ธันวาคม 2452)
โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯไปทรงเปิดสถาบันการศึกษาแห่งนี้ เมื่อ 26 ธันวาคม 2452

โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมถือกำเนิดขึ้นจากโรงเรียน “คะเด็ตทหารมหาดเล็ก” ซึ่งเป็นโรงเรียนในกรมทหารมหาดเล็ก เพื่อสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยให้แก่ทหารมหาดเล็ก
5 สิงหาคม 2430 โปรดเกล้าฯให้รวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก คะเด็ตทหารหน้า นักเรียนแผนที่ และทหารสก็อต (ทหารมหาดเล็กรุ่นเยาว์สำหรับแห่โสกันต์) เข้าด้วยกัน ใช้ชื่อเรียกสถานศึกษาว่า “คะเด็ตสกูล” เรียกนักเรียนว่า “คะเด็ด”โดยใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์ ในปี 2431 โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อ “คะเด็ตสกูล” เป็น “โรงเรียนทหารสราญรมย์” ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในขณะนั้น เช่น โรงเรียนสอนวิชาทหารบก โรงเรียนทหารบก ฯลฯ
ปี 2445 โปรดเกล้าฯให้ขยายการศึกษาระดับชั้นมัธยมและให้สร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมที่ ถนนราชดำเนินนอก เพราะสถานที่เดิมคับแคบ ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่นิยมที่จะให้บุตรหลานเข้าศึกษาวิชาทหารในสถานศึกษาแห่งนี้ การเรียนการสอนจึงต้องแบ่งนักเรียนเป็น 2 กอง คือ กองโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม สอนวิชาสามัญ ซึ่งจำเป็นต้องรู้ก่อนแล้วจึงเข้าใจวิชาทหาร และกองโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม สอนวิชาทหารและฝึกกระบวนยุทธ์
​สถานที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมยังคงอยู่ที่ริมพระราชวังสราญรมย์เช่นเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร ส่วนโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมดำเนินการก่อสร้างตามความเหมาะสมของงบประมาณรายปีที่ริมถนนราชดำเนินนอก ปัจจุบันคือ อาคารกองบัญชาการกองทัพบก
​การแต่งกายของนักเรียนนายร้อยชั้นมัธยมจะติดอักษร ”ม” ทำด้วยทองขาวที่อินทรธนู ซึ่งเป็นสีแดงล้วน มีเส้นทองขีดอยู่ตรงกลาง ส่วนเลขหมายชั้นปีทำด้วยทองขาวประดับที่คอปกเสื้อ ห้องเรียนอยู่ในอาคารเดียวกับโรงที่อยู่ ห้องเรียนชั้นล่าง ห้องนอนชั้นบนของอาคาร โรง 1 – โรง 8 ห้องรับประทานอาหารหรือโรงเลี้ยงมีขนาดใหญ่ กรุด้วยลวดตาข่าย นักเรียนนายร้อยทั้งหมดรับประทานพร้อมกันได้ จัดเป็นโต๊ะยาว ตั้งอาหารเป็นสำรับ สำรับละ 4 คน
​การฝึกศึกษาของนักเรียนนายร้อยชั้นมัธยมต้องฝึกกายกรรมท่ามือเปล่า(ฝึกหัดอย่างทหารราบ) หรือฝึกหัดดัดตน ปีนป่าย กระโดดโลดเต้น หกคะเมนตีลังกา สัปดาห์ละ 1 วัน การฝึกหัดอย่างทหารราบอาจเดินแถวไปฝึกนอกสถานที่ เช่น ลานทรายหน้าวัดมกุฎกษัตริยาราม ทางเท้าถนนราชดำเนินนอก สนามเสือป่า ลานพระราชวังดุสิต ฯลฯ เดินแถวไปฝึก 2 ชั่วโมงแล้วเดินแถวกลับโรงเรียน
การศึกษาวิชาทหาร นักเรียนนายร้อยชั้นมัธยม 1 เรียนฟันดาบ (ดาบฝรั่งหรือหวาย) การฝึกหัดส่งสัญญาณ การฝึกขี่ม้า บังคับม้า ปฏิบัติท่ากระบี่บนหลังม้า และวิชาแผนที่ นักเรียนนายร้อยชั้นมัธยม 2 เรียนวิชาทหารปืนใหญ่ วิชาทหารช่าง และการฝึกหัดเข้าสนามยุทธ ซึ่งต้องซ้อมรบใหญ่ก่อนสำเร็จการศึกษา
11 พฤศจิกายน 2451 โปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมและโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า นักเรียนนายร้อยไม่เพียงเรียนได้ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นนักเรียนที่สามารถออกศึกสงคราม เช่นเดียวกับทหารบกทั้งปวง และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

​26 ธันวาคม 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมอย่างเป็นทางการ และได้พระราชทานพระราชดำรัสตอบนักเรียนนายร้อยความตอนหนึ่งว่า “…ก็นายทหารนั้นจะได้มาจากไหนเล่า ก็ต้องได้มาจากโรงเรียนนายร้อย คือ จากพวกเจ้านี้เอง เพราะฉะนั้น เจ้าทั้งหลายจงตั้งอุตสาหะ พยายามในการศึกษาเล่าเรียนวิชาของตนให้ดีเถิด…” พระราชดำรัสดังกล่าวเป็นพระราชดำรัสที่ทรงคุณค่ายิ่ง โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจึงได้จารึกพระราชดำรัสนี้ไว้ด้านหน้าแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ หน้ากองบัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ปี 2468 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก กรมยุทธนาธิการจึงได้ยุบรวมโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมมาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนนายร้อยทหารบก จนกระทั่ง 1 มกราคม 2491 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ขนานนามโรงเรียนนายร้อยทหารบก ว่า “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” เขียนเป็นอักษรโรมันว่า “Chulachomklao Royal Military Academy”
​ต่อมาในปี 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำริให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ย้ายมาตั้งอยู่ที่บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก พื้นที่ประมาณ 21,000 ไร่เศษ และทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม 2524 หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อ 30 กรกฎาคม2529 พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงพระดำเนินนำนักเรียนนายร้อย และกำลังพล เข้าสู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ ที่ตั้งแห่งใหม่ จังหวัดนครนายก
เมื่อ 5 สิงหาคม 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ พร้อมด้วย พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ยังความปลาบปลื้มแก่บรรดานักเรียนนายร้อยและกำลังพลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอย่างหาที่สุดมิได้
เนื่องในโอกาสครบ 114 ปี แห่งการเสด็จฯไปทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม 26 ธันวาคม 2566 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้จัดพิธีถวายสังฆทาน ณ หอประชุมโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในการนี้ พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธี
แม้กาลเวลาผ่านไปยาวนานเพียงใด พระราชดำรัสในวันนั้นยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของนักเรียนนายร้อยและกำลังพลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอย่างไม่มีวันลืมเลือน

Similar Posts