พระราชกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานด้านการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตลอดจนการที่ได้ทรงสัมผัสกับประชาชนโดยตรง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร จึงทรงทราบถึงปัญหาสภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทรงตระหนักในความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม ขาดคุณภาพ และการขาดแคลนที่ดินทำกิน โดยแนวทางหลัก 2 ประการคือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ และการจัดสรรและปฏิรูปที่ดิน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ซึ่ง นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 สรุปความว่า ให้ศึกษา ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ ทรงนำประสบการณ์เรื่องน้ำมาใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำ  ด้วยทรงตระหนักว่าเกษตรกรและประชาชนยังต้องพึ่งพาน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก

ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า กษัตริย์เกษตร ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าพสกนิกรส่วนใหญ่ของพระองค์เป็นเกษตรกร ทรงเป็นบุคคลที่ ดร.ชาค ดิอูฟ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าเป็น “ผู้พรวนดิน ดูแลรักษาน้ำ และบำรุงป่าไม้

ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านการดนตรี เมื่อครั้งที่ประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงได้รับการฝึกหัดทางดนตรีตามแบบฉบับของการศึกษาวิชาดนตรี ทรงจัดตั้งวงดนตรีซึ่งออกอากาศทางวิทยุครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส. อัมพรสถาน ในทุกเย็นวันศุกร์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงเป็นที่มาของชื่อวงดนตรี “อ.ส. วันศุกร์” อีกทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์เพลง รวม 49 บทเพลง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงพระปรีชาสามารถด้านกีฬา ทรงส่งเสริมให้ประชาชนเห็นคุณค่าของกีฬา ดังพระราชดำรัสที่ว่า

 “…การกีฬานั้นนับเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ ปลูกฝังพลานามัยให้แข็งแรง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพ ทั้งในทางจิตใจและร่างกายเป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติอันเป็นยอดแห่งความปรารถนา…”

พระบรมราโชวาท ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ 

พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบ ทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง และจะทรงทดลองแล่นในสระน้ำภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์โดยพระราชทานชื่อเรือว่า “ราชปะแตน” และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท โอ.เค. ขึ้น พระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” ซึ่งเรือนวฤกษ์นี้เอง ทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 และทรงชนะเลิศการแข่งขัน